เลือกใช้ครีมกันแดดอย่างไร..ให้ได้ผล⁉

Last updated: 8 มี.ค. 2562  |  7225 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เลือกใช้ครีมกันแดดอย่างไร..ให้ได้ผล⁉

ครีมกันแดด ที่ดีควรจะต้องประกอบไปด้วยสารกรองรังสียูวีเอและสารกรองรังสียูวีบี เพราะในบรรยากาศจะประกอบไปด้วยรังสีทั้งสองชนิดนี้จากดวงอาทิตย์ ที่ตกกระทบถึงพื้นโลก รังสียูวีเอจะมีความรุนแรงต่อผิวหนังและสามารถผ่านทะลุเข้าสู่ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไปได้ ทำให้ผิวหนังปรากฏเป็นริ้วรอยเหี่ยวย่น รอยตีนกา ทำให้ผิวหนังเสื่อมและแก่เร็วกว่าวัย ส่วนรังสียูวีบีนั้นจะทำให้สีผิวดำคล้ำ ไหม้และอักเสบจากการตากแดดเป็นเวลานานหรือที่เรียกกันว่า "แดดเผา" นั่นเอง รังสีทั้งสองชนิดสามารถทำให้เซลล์ผิวหนังตายโดยการทำลาย "ดีเอ็นเอ" ของเซลล์ผิว และอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ถ้าผิวหนังได้รับรังสีทั้งสองชนิดมากเกินไป



วิธีการเลือกซื้อครีมกันแดด

  1. ครีมกันแดดที่มีขายส่วนใหญ่ในท้องตลาดมักจะมีองค์ประกอบหลักคือสารกรองรังสียูวีบี เพื่อป้องกันสีผิวมิให้ดำคล้ำหรือแดดเผา แต่โดยความเป็นจริงแล้วการทาครีมกันแดดสามารถปกป้องไม่ให้ผิวหนังเกิดอาการอักเสบจากแดดเผาได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันผิวหนังจากการเปลี่ยนสีได้ เนื่องจากเซลล์สร้างเม็ดสีคือ เมลานินจะทำหน้าที่สร้างเม็ดสีให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการโต้ตอบรังสี และเป็นวิธีการปกป้องผิวหนังจากการถูกทำลายโดยรังสีดวงอาทิตย์

         หากเราทาครีมกันแดดที่มีสารกรองรังสียูวีบีเพียงชนิดเดียว จะเป็นการเปิดช่องให้รังสียูวีเอ ทะลุเข้าสู่ผิวหนังมากขึ้น ดังนั้นจึงควรพิจารณาเลือกซื้อชนิดที่มีสารกรองรังสีทั้งเอและบีเป็นองค์ประกอบ 
    • สารมีประสิทธิภาพกรองรังสี ทั้งยูวีเอและยูวีเอ เช่น ไทเทเนี่ยมไดออกไซด์ (Titanium dioxide micronized) ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide micronized) ออกซีเบนโซน(Oxybenzone)
    • สารกรองรังสียูวีเอ เช่น อโวเบนโซน (Avobenzone)
    • สารกรองรังสียูวีบี เช่น ออกทิวไดเมททิว พาบา (Octyl dimethyl PABA) ออกทิว เมททอกซีซินนาเมท (Octyl methoxycinnamate) ฯลฯ

  2. ควรเลือกซื้อชนิดที่สามารถกันน้ำได้หรือที่ระบุบนฉลากว่า ‘Water proof or water resistant’ เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิอากาศที่ร้อนชื้น เหงื่อออกง่าย เมื่อทาครีมกันแดดแล้ว อาจถูกเหงื่อชะออกไป ทำให้ประสิทธิภาพลดลงหรือไม่ได้ผลในการกันแดดตามระยะเวลาที่ต้องการ

  3. ควรเลือกซื้อค่ากันแดดหรือค่า’เอสพีเอฟ SPF’ ตามความเหมาะสมของการใช้งาน เช่น หากต้องการทาผิวหน้าเพื่อทำงานในออฟฟิส ควรเลือกซื้อค่าที่ต่ำๆ เช่น SPF 2, 4 , 6 ,8 แต่ถ้าต้องทำงานนอกสถานที่ ต้องเดินตากแดด หรือต้องการไปทะเลหรือภูเขาที่ต้องได้รับแสงแดดจัด ควรเลือกซื้อค่าเอสพีเอฟที่สูงๆ เช่น SPF 30 หรือมากกว่า

 

วิธีการทาครีมกันแดดให้ได้ผล

     ปัญหาของครีมกันแดดที่ทาแล้วไม่ได้ผล ไม่สามารถป้องกันผิวตามระยะเวลาที่ระบุไว้บนฉลาก เช่น SPF 10 ควรจะสามารถปกป้องผิวหนังจากแดดเผาได้นานเป็นระยะเวลา 10 เท่าเมื่อเทียบกับผิวหนังที่โดนแดดโดยไม่ได้ทาครีมกันแดด ซึ่งโดยทั่วไป ผิวคนไทยถ้าไม่ได้ทาครีมกันแดดเลยและไปยืนตากแดด จะเริ่มเห็นผิวหนังมีสีแดงภายในระยะเวลาเพียง 10-15 นาที ดังนั้นหากทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 10 ควรจะป้องกันผิวหนังจากแดดได้นานถึง 100-150 นาที แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ผลเช่นนั้น เพราะมีหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ

  1. วิธีทาครีมกันแดดที่ถูกต้องและได้ผล ต้องทาครีมหนาเพื่อปกปิดผิวหนังทุกรูขุมขน ซึ่งเป็นวิธีการที่ผ่านการทดสอบในห้องทดลองจากนักวิทยาศาสตร์ แต่โดยทั่วไปผู้บริโภคมักจะนิยมทาเพียงเบาบาง ทำให้รังสีดวงอาทิตย์สามารถกระทบและทะลุเข้าสู่ผิวหนังได้บางส่วน นักวิชาการจึงแนะนำว่าหากต้องการทาแล้วได้ผลควรทาบ่อยๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง

  2. ภายหลังจากการทาครีมกันแดด สภาวะความเป็นจริงคือ ผู้บริโภคมักจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกายด้วยการตีกอล์ฟ ว่ายน้ำ วิ่ง เดิน หรืออื่นๆทำให้เหงื่อออกทางผิวหนังและแน่นอนครีมกันแดดจะถูกชะออกโดยง่าย ทำให้ประสิทธิภาพของครีมกันแดดลดลงหรือหมดไปในบางกรณี

  3. สารกรองรังสียูวีที่เป็นองค์ประกอบในครีมกันแดดหลายชนิดไม่คงตัว สลายตัวเมื่อโดนความร้อน ทำให้ครีมกันแดดเสื่อมประสิทธิภาพไป สินค้าบางตัวอาจเสื่อมไปตั้งแต่ยังไม่ทันได้ใช้ก็มี ในกรณีที่ผู้ขายเก็บไว้ในร้านค้าที่ร้อนหรือผู้บริโภคเองซื้อไปเก็บไว้ในที่ร้อน ทำให้สารกันแดดเสื่อมประสิทธิภาพก่อนเปิดใช้ ดังนั้นจึงควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือซึ่งสินค้าจะถูกเก็บรักษาในสถานที่ปรับอากาศ และพิจารณาฉลากถึงวันเดือนปีที่ผลิตว่าเก่าเก็บหรือไม่ เพราะนอกจากครีมกันแดดจะหมดประสิทธิภาพแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดพิษระคายเคืองต่อผิวหนังได้อีกด้วยกรณีที่ทาครีมกันแดดหมดอายุ


ขอบคุณที่มา : รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล






    "รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมมองหา ผลิตภัณฑ์กันแดด ที่มีคุณสมบัติปกป้องผิวจากรังสี UV มาใช้กันด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีค่ะ"

มิสเดอร์มา
by Derma Innovation

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้