สารสกัดเดียวกัน จากไหนก็เหมือนกันจริงหรือ ?

Last updated: 29 มี.ค. 2567  |  488 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สารสกัดเดียวกัน จากไหนก็เหมือนกันจริงหรือ ?

          ไม่ว่าจะเป็นสาวกสายเครื่องสำอางหรือไม่ คำว่า “สารสกัด” คงคุ้นหูและผ่านตาใครหลายคนอยู่บ่อยครั้ง อย่างน้อยแค่ลองพลิกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีในบ้าน เราก็สามารถเจอคำนี้บนฉลากด้านหลังได้อย่างง่ายดาย แต่เชื่อเถอะว่ายังมีหลายคนที่มีความเข้าใจผิดในบางประเด็นกับคำสั้นคำนี้ บทความนี้จะช่วยไขข้องใจให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้นฉบับมิสเดอร์มากันค่ะ

          ความหมาย การสกัด (extraction) คือ กระบวนการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสกัด (extract) ที่มีส่วนประกอบทางเคมี (certain active compounds) ที่สนใจและมีปรากฎอยู่ในพืช ผลไม้ สมุนไพร สัตว์ และสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นต้น ออกมาและนำมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมในสูตรตำรับเครื่องสำอาง เนื่องจากสารสำคัญเหล่านี้สามารถมอบประสิทธิภาพในการช่วยดูแลเรื่องสุขภาพและความงามของผิวหนังได้ ยกตัวอย่าง ในพืชหอมแดงมีสารสำคัญสองกลุ่มหลักที่พบได้ คือ (1) สารประกอบกลุ่มซัลเฟอร์ และ (2) สารประกอบกลุ่มฟีนอลิกฟลาโวนอยด์ ในงานวิจัยพบว่า quercetin ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่สองนั้นมีสรรพคุณช่วยลดการเกิดรอยแผลเป็นรูปแบบนูนหนาธรรมดา (hypertrophic scar) ได้ ดังนั้นการสกัดหอมแดงด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อให้ได้สารสกัดที่อุดมไปด้วย quercetin จะถูกนำไปใช้ได้เฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติและเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนกว่าการหั่นหอมแดงแล้วนำชิ้นส่วนมาทาสัมผัสบนแผลเป็นโดยตรง

          สารสกัดพืชเดียวกันจากที่ไหนก็เหมือนกัน ถึงแม้เราจะเรียกชื่อพืชเหล่านั้นด้วยคำสามัญทั่วไปเหมือนกัน แต่ใช่ว่าจะเหมือนกันจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากพืชและสิ่งมีชีวิตได้ถูกจัดจำแนกเป็นลำดับหมวดหมู่ด้วยหลักอนุกรมวิธาน (Taxanomy classification) โดยพิจารณาเรียงจากระดับใหญ่ไปต่ำสุด ดังนี้ อาณาจักร ไฟลัม คลาส ออเดอร์ แฟมิลี่ จีนัส สปีชีส์ และพันธุ์ ยกตัวอย่าง ข้าว (ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวมันปู ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น) หรือ ชา (ชาอัสสัม ชาจีน เป็นต้น) เพราะฉะนั้นสารสำคัญและปริมาณที่สกัดออกมาได้จึงมีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะเฉพาะของพืช นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลเช่นเดียวกัน ขอแบ่งเป็น 2 ระยะหลัก นั้นคือ (1) สภาวะเพาะปลูก และ (2) กระบวนการสกัด

  • ปัจจัยในระยะสภาวะเพาะปลูก ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของต้นพืช

  • พื้นที่การเพาะปลูก เพราะมีความแตกต่างในด้านอุณหภูมิ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ความเข้มของแสง โอโซนในชั้นบรรยากาศ ปริมาณน้ำในดิน ความเค็มของดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมถึงการเก็บรักษาหลังเก็บเกี่ยวก่อนจะนำไปสกัด เป็นต้น

  • ปัจจัยในระยะกระบวนการสกัด ที่มีผลต่อการสกัดเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสำคัญอย่างจำเพาะเจาะจง

  • กระบวนการสกัดที่เลือกใช้อย่างเหมาะสม นั้นคือ วิธีการสกัด ส่วนของพืช การเตรียมลักษณะพืชตัวอย่าง ชนิดตัวทำละลาย pH อุณหภูมิและเวลา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพธรรมชาติของสารสำคัญที่สกัดออกมาได้อาจมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ เช่น ความเสถียรภาพ (มีความไวต่อแสง กรด-ด่าง ความชื้น ออกซิเจน เป็นต้น) ความสามารถในการละลาย การระคายเคือง ระดับความเข้ากันกับส่วนผสมอื่นในสูตรตำรับเครื่องสำอาง เพราะฉะนั้นปัจจุบันจึงมีการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์เพื่อปรับปรุงคุณภาพประโยชน์ให้ดีขึ้นและลดข้อจำกัดดังกล่าว ซึ่งอาจหมายถึงรวมตั้งแต่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชภายใต้สภาวะควบคุมที่ถูกเลือกอย่างเหมาะสม

          จะเห็นได้ว่ากว่าจะผ่านกลายมาเป็นสารสกัดที่หยิบนำใส่ในเครื่องสำอางนั้นมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพในเรื่องประสิทธิภาพคุณสมบัติและลักษณะที่พบเห็นได้ จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าสารสกัดจากพืชนั้น ๆ ไม่ว่าจากที่ไหนก็เหมือนกัน มิสเดอร์มาหวังว่าบทความนี้น่าจะช่วยทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจสาระสำคัญเกี่ยวกับสารสกัดเพิ่มมากขึ้นนะคะ แล้วเจอกันใหม่ค่ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้