น้ำมันหอมระเหย เท่ากับ หรือ ไม่เท่ากับ น้ำหอม ?

Last updated: 29 มี.ค. 2567  |  712 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น้ำมันหอมระเหย เท่ากับ หรือ ไม่เท่ากับ น้ำหอม ?

          เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังมีคำถามสงสัยอยู่ในใจ ว่าน้ำมันหอมระเหย เท่ากับ หรือ ไม่เท่ากับ น้ำหอม เพราะมีหลายครั้งที่เราอาจเคยได้ยินจากใครหลายคนพูดกันว่า “น้ำมันหอมระเหย ก็คือ น้ำหอม นั้นแหละ” จะตีความหมายแบบนี้ก็ไม่ถูกสะทีเดียว มิสเดอร์มาจึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อไขข้อสงสัยเรื่องนี้ในใจเพื่อน ๆ กันค่ะ โดยเริ่มต้นด้วยการเฉลยคำตอบว่าจริง ๆ แล้ว น้ำมันหอมระเหย ไม่เท่ากับ น้ำหอม แต่มีจุดร่วมที่เหมือนกัน นั้นคือ ให้กลิ่นหอม แล้วสองคำนี้ต่างกันอย่างไร จนชวนให้คนอื่นเข้าใจผิดได้ว่าเหมือนกัน

          น้ำมันหอมระเหย หรือคนเรียกทับศัพท์ว่า essential oil ได้มาด้วยการสกัดวัตถุดิบทางธรรมชาติจากหลากหลายส่วนของพืช เช่น ใบ ราก ดอก เปลือก ด้วยกระบวนการกลั่นด้วยไอน้ำ (steamed-distillation) หรือการเค้นบีบอัดเชิงกล (compression) เป็นต้น น้ำมันหอมระเหยยากที่จะเลียนแบบสังเคราะห์ใหม่ซ้ำ เนื่องจากสารประกอบทางเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีอยู่ราวประมาณ 50-500 สารที่พบในพืช ปัจจุบันเรายังไม่สามารถระบุได้ครบทุกตัว อีกทั้งสัดส่วนสารประกอบทางเคมีจะแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ ฤดูกาล สภาพอากาศ และสภาวะที่เลือกใช้ในการเพาะปลูก เป็นต้น น้ำมันหอมระเหยมีทั้งสารประกอบทางเคมีที่ให้กลิ่นและไม่มีกลิ่นเป็นส่วนประกอบ นอกเหนือให้กลิ่นหอมแล้วน้ำมันหอมระเหยยังมีสรรพคุณในการบำบัดรักษาด้วย ปัจจุบันยังมีการใช้เทคนิคสกัดแยก (isolation) สารประกอบทางเคมีเฉพาะที่ให้กลิ่นจากน้ำมันระเหยออกมา เรียกว่า น้ำหอมธรรมชาติ (natural fragrance oil) ส่วน น้ำหอม (fragrance) คือ สารประกอบที่เกิดจากการสังเคราะห์สารเคมีในห้องแลป แนวทางการสังเคราะห์ คือ การสร้างกลิ่นให้คล้ายหรือเลียนแบบกลิ่นธรรมชาติ และการรังสรรค์กลิ่นใหม่ที่ต้องการ ซึ่งน้ำหอมมีเพียงกลิ่นที่ให้รับรู้และปรับสภาวะทางอารมณ์เท่านั้นไม่ได้มีคุณสมบัติทางการแพทย์ ในทางเชิงธุรกิจ น้ำหอมสามารถชูและเสนอสินค้าในคอนเซปท์ได้มากกว่าน้ำมันหอมระเหยเพียงอย่างเดียว เพราะมีโทนให้ปรุงแต่งได้หลากหลายและกว้างกว่า หรือจะเลือกใช้ความหอมจากการผสมระหว่างน้ำมันหอมระเหยและน้ำหอมเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์ของกลิ่นที่ต้องการ

          เพราะฉะนั้นใครที่สนใจสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง การสื่อสารเรื่องกลิ่นของผลิตภัณฑ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น (1) ไม่แต่งกลิ่น คือ การไม่เติมน้ำหอมสังเคราะห์ โดยแนวกลิ่นผลิตภัณฑ์ที่ได้จะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของสารและสารสกัดที่อยู่ในสูตรตำรับเครื่องสำอางซึ่งเราก็สามารถปรับแต่งแนวกลิ่นได้จากการเลือกใส่สารสกัดธรรมชาติที่ให้กลิ่นหรือน้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันทีทรีออยล์ เป็นต้น (2) แต่งกลิ่น / แต่งกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติ กรณีนี้คือ การเติมน้ำหอมสังเคราะห์เพื่อให้ได้แนวกลิ่นตามต้องการ ทั้งนี้ต้องร่วมพิจารณากับปัจจัยโครงสร้างของสูตรตำรับเครื่องสำอางเช่นกัน

          อ่านมาถึงตรงจุดนี้ มิสเดอร์มา เชื่อว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ช่วยเพิ่มความเข้าใจในเรื่องจุดร่วม จุดต่างของน้ำมันหอมระเหยกับน้ำหอม พร้อมทั้งช่วยให้ผู้อ่านมีความมั่นใจในการสื่อสารในหัวข้อนี้ได้ตรงตามจุดประสงค์มากขึ้นนะคะ แล้วไว้เจอกันใหม่บทความหน้าค่ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้