เรื่องที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับ “เส้นผม”

Last updated: 8 มี.ค. 2562  |  32583 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่องที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับ “เส้นผม”

     โดยธรรมชาติเส้นผมบนศีรษะคนเราจะมีประมาณ 1 แสนเส้น แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเรื่อง เส้นผม จนกระทั่งสังเกตเห็นผมร่วงเกิดขึ้นมากจึงตกใจ แท้จริงแล้วการที่มีผมร่วง 10-80 เส้นต่อวันเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นวงจรของเส้นผมของเรานั้นเอง แต่บางครั้งคนเราไม่ทันสังเกตว่าผมของตนร่วงมากกว่าผมที่ขึ้นมาใหม่ ทำให้ผมเริ่มบางสะสมขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ยิ่งทำให้เห็นชัด หากไม่ใส่ใจดูแลรักษา ปล่อยไปเรื่อยๆ จากผมบางก็จะกลายเป็นศีรษะล้านในที่สุด วันนี้มิสเดอร์มาฯ จะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับเส้นผมให้มากขึ้นกันค่ะ
 
 
หน้าที่หลักของเส้นผม

     เส้นผมมีหน้าที่หลักในการปกป้องหนังศีรษะ ไม่ให้เสียความร้อนมากเกินไป ไม่ใช่เรื่องความสวยงาม แต่ในสายตาของคนส่วนใหญ่ ความสวยงามคงเป็นหน้าที่หลักของเส้นผมอย่างปฏิเสธไม่ได้

 


โครงสร้างของผม

     เส้นผม (hair shaft) เป็นเซลล์ส่วนที่ตายแล้ว ไม่มีชีวิต และความรู้สึก เป็นส่วนที่งอกเจริญยาวออกมาปกคลุมศีรษะ มีลักษณะโครงสร้างภายในต่างกันไปสำหรับผมชนิดต่างๆ ทำให้ปรากฏให้เห็นภายนอกได้ต่างกัน ถ้านำเส้นผมมาตัดขวาง จะแยกส่วนประกอบ ได้ 3 ชั้น คือ

     1. ผิวนอก (Cuticle) อยู่ชั้นนอกสุด โปร่งแสงไม่มีสี เป็นเกล็ดใสๆ ที่เรียงซ้อนกันแบบเกล็ดปลา หนาประมาณ 0.5-1 ไมครอน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10% ของเส้นผม ชั้นนี้จะช่วยป้องกันการซึมผ่านของสิ่งสกปรกที่จะเข้าไปทำลายเส้นผม และยังช่วยปกป้องชั้นในเนื้อผมไม่ให้สูญเสียความชุ่มชื้น,เม็ดสี รวมถึงน้ำมันตามธรรมชาติซึ่งช่วยให้ผมดูเป็นเงา

     2. เนื้อชั้นนอก (Cortex) เป็นชั้นที่มีความหนาที่สุด D 3-6 L 50-100 ไมครอน ประกอบด้วยเซลล์รูปกระสวยคล้ายเส้นใยเรียงอัดกันแน่นตามยาว เนื้อผมชั้นนอกเป็นแหล่งรวมของเม็ดสี เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวกำหนดสีผม มีช่องอากาศ โปรตีน เคราติน และเส้นใยโปรตีนที่เกาะเกี่ยวกันกำหนดโครงสร้างตามธรรมชาติ ช่วยให้ผมมีความนิ่ม ยืดหยุ่น

     3. เนื้อชั้นใน (Medulla) แกนผมจะอยู่ชั้นในสุด เป็นเซลล์ลูกเต๋าเรียงกัน 3-4 ชั้น และมีเซลล์ Nucleated cell เรียงกันแน่น เกิดจากโปรตีนและไขมัน ซึ่งจำนวนเซลล์นั้นจะลดลงทางปลายผม และแกนผมไม่มีบทบาทในการทำงาน ส่วนมากจะพบในผมที่มีสภาพแข็งแรง และผมเส้นเล็กมักไม่มีแกนผม

 


ตัวอย่างผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม
Hair Recovery Serum (BHR)
ซีรั่มเสริมสร้าง และดูแลเส้นผม คิ้ว ขนตา ด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ ช่วยเพิ่มปริมาณของเส้นผมให้หนาแน่นขึ้น พร้อมทั้งช่วยดูแลและลดปัจจัยการเกิดผมร่วง

 

วงจรชีวิตของเส้นผม

     Hair จะมีระยะเจริญเติบโต (Growth) หยุดเจริญเติบโต (Involution) และระยะพัก (Resting)เส้นผมแต่ละเส้นจะผ่านระยะที่ 1 ไปสู่ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ตามลำดับ และจะย้อนกลับมายังระยะที่ 1 ใหม่ เป็นวัฏจักรชีวิตของเส้นผม ระยะของ hair แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
     

     1. Anagen (ระยะเจริญเติบโต): เป็นระยะที่เส้นผมมีความงอกงาม มีช่วงเวลา 2 ถึง 8 ปี เมื่อเราอายุมากขึ้นระยะนี้จะลดลง โดยเฉลี่ยเส้นผมคนเรางอกอย่างน้อย 1 เซนติเมตรต่อเดือน

     2. Catagen (ระยะหยุดเจริญเติบโต): ระยะหยุดงอก โดยเซลล์รากผมจะค่อยๆแยกตัวออกจากเส้นผม ทำให้เส้นผมขาดสารอาหารและความแข็งแรง ระยะนี้มีช่วงเวลา 2 – 4 สัปดาห์

     3. Telogen (ระยะพัก): ในระยะพัก มีช่วงเวลา 3 – 4 เดือน โดยเส้นผมเดิมจะหลุดไป และเส้นผมใหม่จะงอกขึ้นมาแทน

     ผมประกอบด้วยโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ 65-95% โดยน้ำหนัก ไขมัน 25% มีน้ำในปริมาณไม่แน่นอน (สามารถดูดน้ำได้ถึง 40% ของน้ำหนักผมแห้ง) ผมประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ คาร์บอน 45.2% โฮโดรเจน 6.6% ออกซิเจน 27.9% ไนโตรเจน 15.1% และซัลเฟอร์ 5.2% เส้นผมมีพันธุกรรมกำหนดชนิด ขนาด สี ปริมาณ การกระจายของเส้นผม และอายุของต่อมผม เส้นผมจึงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

 

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม

 

     ผมร่วงเกิดในบางส่วนของหนังศีรษะ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ (pattern) จากการศึกษาพบว่าทั้งในชายและหญิงจะมีฮอร์โมนชายสร้างจากต่อมหมวกไต ได้แก่ ฮอร์โมนเทสโทสโตโรน (Testosterone) และไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (dihydrotestosterone, DHT) ฮอร์โมนจะกระตุ้นขนรักแร้ ขนบริเวณหัวเหน่าและเครา ให้เปลี่ยนเป็นเส้นผมหนาดำ หยาบ และยาวขึ้น กระตุ้นการสร้างอสุจิ ขนาดอวัยวะเพศ เสียง ความรู้สึกทางเพศ และเร่งให้มีการผลัดเส้นผมในบริเวณเหนือหน้าผาก และกลางกระหม่อมเพิ่มขึ้น โดยอายุเส้นผมระยะเจริญสั้นลง ผมจึงหลุดร่วงก่อนกำหนด ส่วนเส้นผมใหม่ที่ขึ้นแทนเส้นจะเล็กและสั้นลงตามลำดับ เพราะขนาดรากผมเล็กลงและฝ่อไปในที่สุด
 
     เส้นผมของชายในบริเวณดังกล่าวจะตอบสนองต่อฮอร์โมน DHT มากกว่า และพบว่ารากผมบริเวณดังกล่าวจะมีเอนไซม์ type 2-5 reductase สูงขึ้นด้วย เอนไซม์ชนิดนี้เปลี่ยน testosterone เป็น DHT ซึ่งมีฤทธิ์ฮอร์โมนเพศชายสูงกว่า จึงยิ่งกระตุ้นให้อายุของต่อมผมสั้นลง ในหญิงเส้นผมบริเวณดังกล่าวก็มี receptor สูงเช่นกัน แต่กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับชาย เพราะในหญิงมีระดับเอนไซม์ cytochrome P450 aromatase สูงกว่าชายถึงร้อยละ 80 เอนไซม์นี้สามารถเปลี่ยน testosterone เป็นฮอร์โมนหญิง estradiole ซึ่งช่วยต่อต้านฤทธิ์ของฮอร์โมนชายได้ ส่วนในชายศีรษะล้านตรวจไม่พบเอนไซม์นี้เลย

 

 

อายุ vs วงจรชีวิตของเส้นผม

 

  • ในวัยเด็กจนถึงอายุ 30 ปี เส้นผมจะอยู่ในระดับงอก มากกว่า 90% ดังนั้น ช่วงนี้ ผมจึงดูดกและหนาแน่นมากที่สุด
  • ช่วงอายุ 30 - 50 ปี เส้นผมจะอยู่ในระยะงอก จะลดลงเล็กน้อยเกือบคงที่
  • ช่วงอายุ 50 - 60 ปี เส้นผมที่อยู่ในระดับงอก จะค่อยๆลดลงทีละน้อย และขนาดของเส้นผมจะมีขนาดเล็กลง จึงทำให้เกิดอาการผมบางลงตามธรรมชาติระดับเล็กน้อย
  • ช่วงอายุมากกว่า 60 ปี เส้นผมที่อยู่ในระดับงอก จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในคนสูงอายุ

 

ที่มา : www.hairtsc.com, www.nakonluang.com





    "เชื่อว่าหลายท่านอ่านจบแล้ว คงได้รู้จักกับเส้นผมของตัวเองมากขึ้นนะคะ การดูแลสุขภาพของเราให้ดีอยู่เสมอ ก็ช่วยให้เส้นผมของเราแข็งแรง ไม่ขาดร่วงง่ายเช่นกันนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า..สวัสดีค่ะ"

มิสเดอร์มา
by Derma Innovation

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้